แก้ว
          ต้นแก้วเป็นไม้มงคลอีกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมาก เพราะดอกแก้วจะส่งกลิ่นหอมเย็นอย่างน่าชื่นใจอันเป็นเสน่ห์ของต้นไม้ชนิดนี้ บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้คนในบ้านมีความดี มีคุณค่าสูง เพราะคำว่า แก้ว นั้นหมายถึง สิ่งที่ดีมีค่าสูงเป็นที่นับถือบูชาของบุคคลทั่วไป ซึ่งโบราณได้เปรีบเทียบของที่มีค่าสูงนี้เสมือนดั่งดวงแก้ว นอกจากนี้คนโบราณยังมีความเชื่ออีกว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เพราะแก้วคือความใสสะอาด ความสดใส นอกจากนี้ดอกแก้วยังมีสีขาวสะอาดสดใสมีกลิ่นหอมนวลไปไกลและยังนำดอกแก้วไปใช้ในพิธีบูชาพระในพิธีทางศาสนาได้เป็นสิริมงคลยิ่งอีกด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murraya paniculata (L.) Jack.
วงศ์ : RUTACEAE
ชื่อสามัญ : Orang Jessamine, Chinese Box Tree, Andaman Satinwood, Chinese Box-wood
ชื่ออื่นๆ : แก้วขาว (ภาคกลาง), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก (ภาคเหนือ), ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), แก้วลาย (สระบุรี), จ๊าพริก (ลำปาง), กะมูนิง (มลายู ปัตตานี)
ถิ่นกำเนิด : จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน
ประเภท : แก้วเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางลำต้นมีความสูงประมาณ 5-10 เมตรเปลือกลำต้นสีขาวปนเทาลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องตามยาว การแตกกิ่งก้านของทรงพุ่มไม่ค่อยเป็นระเบียบ
ลักษณะทั่วไป :
          ต้น : ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ สีเขียวเข้ม เปลือกต้น สีขาวเทา แตกเป็นร่องตามยาว
          ใบ : ประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5-9 ใบ เรียงสลับกันจากเล็กไปหาใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบย่อยที่ปลายก้านใบรูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนแหลมหรือสอบ ขอบเป็นคลื่นหรือหยักมนตื้นๆ โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ใบมีต่อมน้ำมัน ใบเป็นมันสีเขียวเข้มขยี้ดูจะมีกลิ่นฉุนแรงขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ขนาดของใบกว้าง
          ดอก : ช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก ปลายมน กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ1.2 ซม. เรียงซ้อนเหลื่อม ฐานรองดอกรูปวงแหวน เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้แบน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียหนา ยาวประมาณ 0.7 ซม. ยอดเกสรรูปโล่ห์ ร่วงง่าย ดอกบานเต็มที่กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร
          ฝัก/ผล : รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 5-8 มม. ยาวประมาณ 1 ซม. ผลแก่สีแดงอมส้ม ต่อมน้ำมันเห็นได้ชัด
          เมล็ด : รูปไข่ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง
          1.การปลูกในแปลง ปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก การปลูกแบบนี้สามารถปลูกเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวก็ได้และสามารถตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้ตามความต้องการของผู้ปลูก
          2.การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12 - 16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถาง 1 - 2 ปี/ ครั้ง หรือตามความเหมาะสมของการเจริญเติบโตของทรงพุ่มเพราะการขยายตัวของรากแน่นเกินไปและเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
ฤดูกาลออกดอก : ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝน
การดูแลรักษา :  ดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย แสงแดดจัด
          แสง : ต้องการแสงแดดจัดหรือกลางแจ้ง
          น้ำ : ต้องการน้ำปริมาณปานกลาง ควรให้น้ำ 3 - 5 วัน / ครั้ง
          ดิน : ดินร่วนซุย ดินร่วนทราย
          ปุ๋ย : ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1 - 2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 - 6 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15  อัตรา 200- 300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 - 6 ครั้ง
ข้อดีของพันธุ์ไม้ : ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง เพราะเป็นไม้ที่มึความทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร
สรรพคุณ :
          ใบ : ใช้ปรุงเป็นยาขับระดู และยาระบายลมแก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
การใช้ประโยชน์ :
          - ไม้ประดับ
          - สมุนไพร
          - เนื้อไม้มีลายมันสวยงาม มีน้ำมันในเนื้อไม้ นิยมใช้ทำเครื่องตกแต่งในบ้าน ด้ามเครื่องมือ ด้ามปากกา เครื่องดนตรี ได้แก่ ซอด้วง ซออู้
หมายเหตุ  : ชื่อสกุล Merraya ตั้งเป็นเกียรติแก่ J.A. Myrray (1740-1791) บรรณาธิกาวารสาร Systema Vegetabilium ของ Linnaeus
          ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นแก้วไว้ทางทิศตะวันออก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ