หิรัญญิการ์
          “หิรัญญิการ์...ราชินีแห่งไม้เลื้อย” เป็นไม้ดอกหอมในวงศ์โมก ดอกใหญ่สีขาว ส่งกลิ่นหอมแรงตลอดวัน เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ดังนั้นหากต้องการเลี้ยงเป็นซุ้ม ตัวซุ้มควรมีความแข็งแรง ช่วงแรกต้องใช้การค้ำยันพอสมควร แต่เมื่อถึงในระดับหนึ่งเขาจะทรงได้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง สามารถเลื้อยไปได้ไกลกว่า 10 เมตร เนื่องจากเป็นไม้ดอก จึงชอบกินแสงแดดเป็นอาหาร ต้องให้โดนแดดประมาณว่ากลางแจ้งเลย
● ชื่อวิทยาศาสตร์ : Beaumontia Grandiflora Wall.
วงศ์ : APOCYNACEAE
● ชื่อสามัญ : Herald's Trumpet, Easter Lily Vine, Nepal Trumpet
● ชื่ออื่นๆ : เถาตุ้มยำช้าง (ภาคเหนือ)
● ถิ่นกำเนิด : จีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
● ประเภท : ไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ชอบอยู่กลางแจ้ง
● ลักษณะทั่วไป :
          ต้น : หิรัญญิการ์เป็นไม้เถาใหญ่เนื้อแข็ง ทุกส่วนของลำต้นหรือเถาจะมียางสีขาว ส่วนยอดหรือส่วนอื่นๆ ที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนสีน้ำตาลอมแดงขึ้นปกคลุม หิรัญญิการ์มักเลื้อยเกาะพันต้นไม้อื่น แตกกิ่งก้านสาขาแผ่เป็นพุ่มแน่นเฉพาะส่วนยอดหรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่
          ใบ : หิรัญญิการ์เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกใบเป็นคู่ตรงข้ามกันตามข้อต้น ลักษณะใบหยาบยาวหนา รูปใบมน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ขอบใบเรียบ เกลี้ยง ไม่มีจัก ใบมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ใบด้านบนเป็นมัน แต่ถ้าลูบจะรู้สึกหยาบมือ และจะออกใบแน่นตรงบริเวณยอดพุ่มมากกว่าตามเถาเลื้อย พูดง่ายๆ ก็คือ ใบจะไปแน่นเป็นพุ่มตรงยอด ส่วนเถาหรือลำต้นของมันใบพอมีให้เห็นประปรายเท่านั้น
          ดอก : ดอกหิรัญญิการ์มีขนาดใหญ่ สีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีลักษณะคล้ายถ้วย บางคนก็ว่าคล้ายปากแตร ตอนปลายของดอกจะบานกว้างมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ติดอยู่กับเนื้อบริเวณโคนกลีบ มีลักษณะเป็นเส้นยาว แยกออกจากกัน คือจะมีเกสรติดอยู่กลีบละ 1 อัน หนึ่งดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 5 อัน ส่วนเกสรตัวเมียจะมีลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กซ่อนอยู่ข้างในดอก ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ช่อดอกหนึ่งๆ จะมีดอกตั้งแต่ 6-15 ดอก ดอกจะผลัดกันบานครั้งละประมาณ 3-4 ดอก เพราะฉะนั้นดอกก็จะบานทนอยู่ได้นาน และถ้าดอกออกมากๆ กลิ่นหอมอ่อนๆ กลิ่นสะอาดๆ ของมันยังช่วยกลบกลิ่นอับหรือกลิ่นเหม็นได้
● ฤดูการออกดอก : ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
● การขยายพันธุ์ : โดยการตอนกิ่งและการเพาะเมล็ด
          - หิรัญญิการ์เป็นไม้กลางแจ้งที่ปลูกง่าย มีวิธีการปลูกโดยการนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดหรือนำกิ่งที่ได้จากการตอนมาปลูก โดยขุดหลุมปลูกให้มีความกว้างลึกประมาณ 1x1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1/4 ของหลุม กลบดินเล็กน้อย แล้วจึงวางต้นกล้าหรือกิ่งตอนลงกลางหลุมกลบดินพอแน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
          - การตอนกิ่ง ต้องใช้ฮอร์โมนในการเร่งการออกราก เวลาที่ใช้ประมาณ 2 เดือน ดังนั้นถุงที่ใช้ทำตุ้มตอนควรเป็นถุงที่หนากว่าปกติ
● การดูแลรักษา :
          แสง : มีความต้องการแสงปานกลางค่อนข้างมาก เนื่องจากหิรัญญิการ์เป็นไม้กลางแจ้ง
          น้ำ : ต้องการน้ำปานกลาง ไม่ควรให้ขาดหรือมากเกินไป
          ดิน : เป็นไม้ที่ไม่เลือกดินปลูกขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด
          ปุ๋ย : ปุ๋ยที่ใส่ก็เป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เลยก็ได้ แต่หากจะใช้ก็ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนปีละ 2-3 ครั้ง ช่วงก่อนออกดอก
● ข้อดีของพันธุ์ไม้ :    
          เป็นพันธุ์ไม้หอมที่สามารถปลูกเพื่อประดับเป็นซุ้มกลางแจ้งได้ดี
● สรรพคุณ : ตำรายาไทย เมล็ดเป็นยาบำรุงหัวใจ เนื่องจากมีสารจำพวก "คาร์ดีโนไลด์" ส่วนโทษ เมล็ดหากรับประทานมากอาจถึงตายได้
● การใช้ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่ สวน และสนามได้งดงาม ลู่ทางทางการตลาดเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอีกชนิดหนึ่ง
● ข้อแนะนำ :
          - เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้หอมที่มีใบขนาดใหญ่และหนา มีน้ำหนักมาก ใน 1 ปีแรกควรมีการปักไม้เพื่อกันต้นโยก
          - มีความต้องการน้ำในการเจริญเติบโตในระดับปานกลาง
          - เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ไม่ยากนัก ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชื้อพันธุ์ไม้ชนิดนี้ในจำนวนมาก
          - บริเวณที่ปลูกควรได้รับแสงแดดเต็มวัน การปลูกในที่มีแสงแดดอ่อนจะทำให้ต้นไม่แข็งแรง
          - ซุ้มที่ให้เกาะยึดต้องมีขนาดใหญ่และแข็งแรง
● ข้่อควรระวัง :
          กิ่ง ก้าน เถาอ่อนจะมีน้ำยางสีขาว ถ้าต้องไปอยู่ใกล้ๆ ก็ระวัง อย่าเผลอไปเด็ด หัก กิ่งก้านเดี๋ยวน้ำยางจะเปรอะเสื้อผ้าเอาได้
          นอกจากนี้สำรวจโครงสร้างที่จะให้เถาหิรัญญิการ์เลื้อยขึ้นไป ต้องแน่ใจว่าแข็งแรงพอ ไม่หักลงมาง่ายๆ เพราะหิรัญญิการเถาค่อนข้างใหญ่ ใบพุ่มแน่น ทำให้ต้นมีน้ำหนักมาก ถ้าโครงไม่แข็งแรงพอก็อาจจะหักหรือพังลงมาได้