กรรณิการ์
          กรรณิการ์เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมแรง โดยจะบานตอนกลางคืน ออกดอกตลอดปี นอกจากจะเป็นไม้ที่หอมแล้ว กรรณิการ์ยังเป็นสมุนไพรอีกด้วย และฐานรองดอกก็สามารถนำมาทำสีย้อมผ้าและสีทำขนมได้ด้วย
● ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nyctanthes Arbortristis Linn.
● วงศ์ : OLEACEAE
● ชื่อสามัญ : Night Blooming Jasmine (มะลิบานราตรี), Night Flower Jasmine, Coral Jasmine
● ชื่ออื่นๆ : กณิการ์, กรณิการ์
● ถิ่นกำเนิด : อินเดีย ลังกา พม่า ไทย
● ประเภท : ไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่มีความสูงประมาณ 3-4 เมตร แต่ถ้าปล่อยให้สูงไปเรื่อยๆ โดยไม่ตัดกิ่งออกบ้าง ตันไม้จะขึ้นโอนเอนไปมาไม่เป็นระเบียบ แถมจะเก็บดอกไม่ถึง อยู่สูงเกินไป
● ลักษณะทั่วไป :
          ต้น : สูงประมาณ 2 - 4 เมตร ตามลำต้นจะมีรอยเป็นเส้นคาดรอยต้นเป็นช่วงๆ ไปตามข้อต้น เปลือกของลำต้นนั้นมีสีขาว ลักษณะของลำต้นและกิ่งก้านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นแขนงและกิ่งอ่อนจะเป็นสี่เหลี่ยม บริเวณแนวสันเหลี่ยมของกิ่งหรือลำต้นมีตุ่มเล็กๆ ประเป็นแนวอยู่ด้วย
          ใบ : เป็นไม้ใบเดี่ยวแต่ออกเป็นคู่ๆ สลับกันไปตามข้อของต้น มีรูปมนรี ปลายใบแหลม สีเขียวและมีขนอ่อนเป็นละอองปกคลุมอยู่ทั่วใบ ลักษณะสากคายมือ
          ดอก : ดอกสีขาว ออกเป็นช่อดอกเล็กๆ กระจายที่ปลายกิ่ง ประมาณช่อละ 5 - 8 ดอก ดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกจะบิดเวียนไปทางขวาคล้ายกังหัน วงในดอกเป็นสีแสด หลอดดอกเป็นสีแสด เกสรเป็นเส้นเล็กละเอียดซ้อนอยู่ในหลอดดอก ขนาดของดอกบานเต็มที่ประมาณ 1.50 - 2 ซ.ม. หลอดดอกยาว 1.50 ซ.ม. ปลายแยกเป็น 5 - 8 แฉก ก้านช่อดอกมีใบประดับเล็กๆ 1 คู่ ดอกของกรรณิการ์มีกลิ่นหอมแรง บานกลางคืน พอรุ่งเช้าก็โรยราร่วงหล่นหมด และก็ตูมขึ้นมาใหม่อีกจนกว่าดอกจะหมดในทุกๆ กรวย ออกดอกตลอดปี และจะออกมากในช่วงย่างเข้าหน้าหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ต้นมกราคม
          ผล : เป็นแผ่นแบนๆ ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด
● การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่งหรือปักชำกิ่ง
          - การปลูกกรรณิการ์ ควรปลูกกลางแจ้ง (ใบจะเล็ก ใบจะสีเขียวอมเหลือง) หรือแดดครึ่งวันเช้าก็ได้ (ใบจะใหญ่ ใบจะสีเขียวเข้ม) แตกกิ่งก้านมากมายไม่เป็นระเบียบ จนดูเหมือนปะการัง จนมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Coral Jasmine”
          - หากต้องการให้กรรณิการ์ออกดอกดกๆ จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกะกะทิ้งไป และตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มสวยงามอยู่เสมอ จะทำให้แตกยอดใหม่ได้มากขึ้น นั่นหมายถึงจะมีช่อดอกได้มากขึ้น (เพราะดอกกรรณิการ์จะออกดอกที่ปลายยอด) และออกดอกได้รอบทรงพุ่ม ดูสวยงามยิ่งขึ้นนั่นเอง
● การดูแลรักษา : ขึ้นได้ในดินทั่วไป แต่ต้องการความชุ่มชื้น และปลูกที่กลางแจ้ง
          - ต้นกรรณิการ์เป็นไม้ชอบแดด ออกดอกไม่หวาดไม่ไหว ดอกร่วงเร็วมาก แต่ถ้าอยากจะเก็บดอกให้ทัน ให้เก็บในตอนกลางคืน หรือก่อนเวลา 6 โมงเช้า
          - กรณีต้องการดอกที่ไม่ช้ำ เวลาเก็บต้องใช้ปลายนิ้วค่อยๆ จับตรงก้านสีส้มแล้วค่อยๆ ดึงออกมา อย่าถูกกลีบใบ เพราะกลีบใบอ่อนนุ่มมากแถมช้ำเร็ว ถ้าเก็บหลังเวลา 6 โมงเช้า ดอกเริ่มร่วงแล้ว แต่ถ้าต้องการเก็บดอกแบบเร็ว ไม่สนใจความช้ำ เพราะอาจจะต้องการใช้แต่ก้านเพียงอย่างเดียว ให้ใช้มือเขย่าที่กิ่ง ดอกจะร่วงหล่นลงมา ถ้าปลูกที่แสงแดดรำไร จะไม่ออกดอกและไม่ค่อยโต ไม่เหมาะปลูกในกระถางเพราะเป็นไม้ต้นขนาดกลาง อย่าปลูกตรงบริเวณสนามหญ้า เพราะเวลาดอกร่วงหล่นลงพื้นสนามหญ้า ดอกเหี่ยวเฉาเร็ว จะเก็บดอกที่ร่วงออกจากสนามหญ้าลำบากมาก
          - เวลารดน้ำให้รดที่โคนต้นก็เพียงพอแล้ว ถ้ารดทั้งต้น ดอกกรรณิการ์จะช้ำและร่วง เน่าเร็วกว่าเดิมอีก นอกเหนือจากการรดน้ำธรรมดา ยังมีวิตามินสำหรับต้นกรรณิการ์ ขอแนะนำสูตรประหยัดไม่เปลืองน้ำ โดยใช้น้ำที่ล้างกระป๋องนมข้นหรือน้ำล้างกล่องนมสดแท้ 100% หรือน้ำชาที่เหลือใช้ในประจำวันผสมน้ำ รดตรงโคนต้นแล้วแต่สะดวก เป็นวิตามินที่มีประโยชน์ได้อย่างดี
● ข้อดีของพันธุ์ไม้ :
          1.ออกดอกให้ชมได้บ่อย
          2.ดอกใน 1 ช่อจะทยอยบาน จึงทำให้ได้ชมดอกหลายวัน
          3.ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
● สรรพคุณ :
          เปลือก : เปลือกชั้นในมีสารฝาดสมาน นำไปต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้วิงเวียนศีรษะ
          ใบ : นำใบสด 1 กำมือไปตำ ใส่น้ำ 1 แก้ว แล้วคั้นเอาแต่น้ำหรือผสมกับน้ำตาลมาดื่ม ใช้เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ บำรุงน้ำดี ถ้าดื่มมากจะเป็นยาระบาย โรคปวดตามข้อ
          ดอก : นำมาใช้แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการกลั่นด้วยไอน้ำไปใช้ทำน้ำหอม
          ก้านดอก : เมื่อคั้นเอาน้ำกรองแล้วจะได้สารสีเหลืองชื่อ Nyctanthin ใช้เป็นสีทำขนมและสีย้อมผ้าได้ดี
          ราก : ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น
 -----------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : P.S. Green ผู้ศึกษาวงศ์ Oleaceae สำหรับพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยให้สกุล Nyctanthes อยู่ภายใต้วงศ์ Nyctanthaceae และกล่าวว่าใกล้ชิดกับวงศ์ Verbenaceae มากกว่าวงศ์ Oleaceae และไม่ได้รวมไว้ในหนังสือพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยเล่มวงศ์ Oleaceae อย่างไรก็ดีข้อมูลด้านวิวัฒนาการในปัจจุบันจัดให้สกุล Nyctanthes อยู่ภายใต้วงศ์ Oleaceae วงศ์ย่อย Myxopyreae
          สกุลกรรณิการ์มีสมาชิกเพียง 2 ชนิด มีเขตการกระจายพันธุ์ที่อินเดีย สุมาตรา ชวา และไทย ในไทยพบทั้ง 2 ชนิด ชนิดที่ปลูกเป็นไม้ประดับคือ กรรณิการ์ Nyctanthes arbor–tristis L. (arbor-tristis เป็นภาษาลาตินแปลว่า sad tree) และอีกชนิดคือ Nyctanthes aculeata Craib ซึ่งพบเฉพาะในไทยเพียงครั้งเดียวจากตัวอย่าง Kerr no. 3066 เก็บจากริมฝั่งแม่น้ำปิง (Kew Bulletin: 1916: 265) ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมสูญพันธุ์ไปแล้วก็เป็นได้
          อนึ่ง ต้นกรรณิการ์ในที่นี้ตรงกับต้นปาริชาติ (Parijat) ในวรรณคดีของอินเดีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู นอกจากนี้ต้นปาริชาติยังเป็นที่เข้าใจว่าเป็นไม้ในพุทธประวัติ แต่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erythrina variegata L. หรือทองหลางลาย ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะทองหลางลายนี้มีถิ่นกำเนิดตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย อัฟริกา ไปจนถึงออสเตรเลีย
          ส่วนดอกกรรณิการ์ตามที่ปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่องมีดอกสีเหลืองสด เช่นไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไท หนังสือเรื่องนางนพมาศ มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน ปฐมสมโพธิกถาของพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กาพย์ห่อนิราศธารโศก และพระมาลัยคำหลวงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นต้นสุพรรณิการ์ Cochlospermum religiosum (L.) Alston ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาต่างๆ ในอินเดียตามชื่อชนิด “Religiosum” และชาวอินเดียให้ความเคารพอย่างสูง มักปลูกตามวิหารของพระผู้เป็นเจ้า ชื่อสุพรรณิการ์มาจากภาษาบาลี “เสผาลิกา” แปลว่าต้นไม้มีดอกหอม ส่วนกรรณิการ์มาจากภาษาบาลีเช่นกันแต่แปลว่าช่อดอกไม้